top of page

สหกิจศึกษา (Co-operative Education)

1. สหกิจศึกษาคืออะไร

          สหกิจศึกษา (Co-operative Education : Co-op)  เป็นระบบการศึกษาที่เน้นประสบการณ์ที่ได้รับจากการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ (Work-based learning) โดยที่สถาบันอุดมศึกษาจัดให้นิสิตที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาตรี ไปปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการอย่างเป็นระบบก่อนสำเร็จการศึกษา โดยที่นิสิตจะต้องปฏิบัติงานจริงแบบเต็มเวลา ตรงตามสาขาวิชาชีพ และเป็นประโยชน์ต่อสถานประกอบการเสมือนหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่หรือพนักงานปฏิบัติงานชั่วคราว ณ สถานประกอบการที่ให้ความร่วมมือเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 16 สัปดาห์ (1 ภาคการศึกษา) ซึ่งในการปฏิบัติงานนั้นสถานประกอบการอาจกำหนดให้นิสิตสหกิจศึกษาปฏิบัติงานในตำแหน่งที่มีหน้าที่รับผิดชอบที่แน่นอน โดยงานที่ได้รับมอบหมายเป็นงานที่มีคุณภาพ เช่น ผู้ช่วยวิศวกร ผู้ช่วยนักวิชาการ ผู้ช่วยนักวิจัย เป็นต้น หรือกำหนดงานเป็นโครงงานพิเศษที่เป็นประโยชน์กับสถานประกอบการ และสามารถทำสำเร็จได้ภายใน 16 สัปดาห์ โดยสถานประกอบการจะจัดหาพี่เลี้ยงหรือพนักงานที่ปรึกษา/พนักงานพี่เลี้ยง (Mentor หรือ Job Supervisor) ทำหน้าที่กำกับและดูแลการทำงานของนิสิตสหกิจศึกษา ทั้งนี้ในการปฏิบัติงานของนิสิตสหกิจศึกษา อาจจะได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง สวัสดิการ หรือค่าตอบแทนอื่นๆ ตามความเหมาะสมจากสถานประกอบการ และหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจจะมีการประเมินผลการปฏิบัติงานโดยอาจารย์นิเทศ และพนักงานที่ปรึกษา/พนักงานพี่เลี้ยงของนิสิตสหกิจศึกษา

2. ความเป็นมาของสหกิจศึกษา

          สืบเนื่องจากสหกิจศึกษามีความจำเป็นต่อการพัฒนานิสิตนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา เพราะเป็นวิธีการผสมผสานการเรียนในห้องเรียนร่วมกับการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ โดยเริ่มมต้นมาจากการพัฒนาในประเทศอังกฤษ และประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงปี พ.ศ.2446-2452 เรียกและรู้จักกันว่า “ระบบสหกิจศึกษา” (Cooperative Education: Co-op) ในประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2503 เป็นต้นมา ระบบนี้ก้าวหน้ามากเนื่องจากได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากรัฐบาลและความร่วมมือของสถานประกอบการ ปัจจุบันสถานศึกษา และสถานประกอบการทั่วโลก มากกว่า 900 หน่วยงาน จาก 39 ประเทศ นําระบบสหกิจศึกษามาใช้และพัฒนาจนถึงระดับที่มีการแลกเปลี่ยนนิสิตนักศึกษาเข้าปฏิบัติงานในระดับนานาชาติ  ในปี พ.ศ.2526 ได้มีการจัดตั้งสมาคมสหกิจศึกษานานาชาติ (World Association for Cooperative Education: WACE) โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อสนับสนุน และแลกเปลี่ยนนักศึกษาสหกิจศึกษาในระดับนานาชาติ

           สําหรับสหกิจศึกษาในประเทศไทยนั้น คำว่า “สหกิจศึกษา” เป็นศัพท์บัญญัติโดยศาสตราจารย์ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ซึ่งเป็นบุคคลแรกที่นําระบบสหกิจศึกษาเข้ามาใช้ในประเทศไทยที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เมื่อปี พ.ศ.2536 โดยการก่อตั้งโครงการสหกิจศึกษาและพัฒนาอาชีพขึ้น เพื่อจัดให้มีการปฏิบัติงานสหกิจศึกษาแก่นักศึกษา

3. โครงการสหกิจศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

          มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาที่จะต้องพัฒนาศักยภาพนิสิตควบคู่ไปกับความเป็นเลิศทางวิชาการ และความชำนาญเชิงปฏิบัติการ เพื่อให้สอดคล้องตรงตามความต้องการของผู้ใช้บัณฑิต จึงได้เข้าร่วมในโครงการนำร่องโครงการพัฒนาสหกิจศึกษา รุ่นที่ 1-รุ่นที่ 3 ที่ผ่านมา โดยส่งนิสิตเข้าปฏิบัติงานในสถานประกอบการเต็มเวลา 1 ภาคการศึกษา (ไม่น้อยกว่า 16 สัปดาห์) จนปัจจุบันมีนิสิตสหกิจศึกษารุ่นที่ 31 ในปีการศึกษา 2560 แล้ว เดิมศูนย์ประสานงานสหกิจศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สังกัดกองบริการการศึกษา สำนักงานอธิการบดี จากการส่งนิสิตเข้าปฏิบัติงานในรุ่นที่ 1 นิสิตที่สร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์โดยได้รับการคัดเลือกให้เป็นนิสิตสหกิจศึกษาดีเด่นของประเทศ คือ นางสาวเจนจิรา สกุลเจน นิสิตสาขาการโรงแรมและการท่องเที่ยว คณะมนุษยศาสตร์ ซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาสหกิจศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (ทบวงมหาวิทยาลัยเดิม) เป็นผู้คัดเลือกจากนิสิตที่เข้าร่วมโครงการสหกิจศึกษาทั่วประเทศจาก 17 สถาบัน

           มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้จัดระบบการศึกษาเป็นระบบทวิภาค โดย 1 ปีการศึกษา จะประกอบด้วย 2 ภาคการศึกษา และ 1 ภาคการศึกษาสหกิจศึกษามีระยะเวลาเท่ากับ 16 สัปดาห์หรือตลอดระยะเวลา 4 เดือน โดยแบ่งการปฏิบัติงานเป็น 2 ช่วง คือภาคต้น จะปฏิบัติงานระหว่างเดือนสิงหาคม-พฤษภาคม และภาคปลาย จะปฏิบัติงานระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม ของแต่ละปีการศึกษา ซึ่งภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน กำหนดให้นิสิตที่เรียนหลักสูตรวิศวกรรมอุตสาหการ-โลจิสติกส์ และเลือกเรียนหลักสูตรสหกิจศึกษา นิสิตจะต้องออกปฏิบัติงานในภาคเรียนปลายของชั้นปีที่ 4 ซึ่งรายวิชาสหกิจศึกษามีค่าเท่ากับ 6 หน่วยกิต โดยนิสิตจะต้องลงทะเบียนรายวิชา 01200490 สหกิจศึกษา ก่อนออกปฏิบัติงานสหกิจศึกษาในภาคเรียนปลาย ชั้นปีที่ 4

4. วัตถุประสงค์

1. เพื่อเพิ่มเติมประสบการณ์ทางด้านอาชีพ และการพัฒนาตนเองแก่นิสิตในรูปแบบที่มีคุณค่าเหนือกว่าการฝึกงาน

2. เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพของ

    บัณทิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

3. เพื่อให้เกิดการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา

4. เพื่อเป็นการส่งเสริม และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยและสถานประกอบการ โดยผ่านนิสิตผู้ไปปฏิบัติงาน ณ   

    สถานประกอบการ

5. หน่วยงาน และบุคลากรที่รับผิดชอบสหกิจศึกษา

1. คณะกรรมการพัฒนาโครงการสหกิจศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบประสานงานระหว่าง 

    คณะและมหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบสหกิจศึกษาให้มีความเหมาะสม

2. คณะทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการประสานงานในการรับสมัครนิสิตเข้าร่วมโครงการ และจัดส่งนิสิตเข้าปฏิบัติงานในสถาน

    ประกอบการ เตรียมความพร้อมนิสิต นิเทศงาน ประเมินผลการปฏิบัติงานและคัดเลือกนิสิตสหกิจดีเด่นระดับคณะวิชา

3. ศูนย์ประสานงานสหกิจศึกษา ฝ่ายบริการการศึกษา สำนักทะเบียนและประมวลผล ซึ่งทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในการ

    ติดต่อประสานงานกับคณะ/วิทยาเขต เบิกค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับโครงการสหกิจศึกษาให้แก่คณะ ประชาสัมพันธ์และจัด

    สัมมนาในส่วนเกี่ยวกับโครงการสหกิจศึกษาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

6. ลักษณะงานของสหกิจศึกษา

1. ปฏิบัติงานเสมือนหนึ่งเป็นลูกจ้างชั่วคราวของสถานประกอบการ

2. ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่มีหน้าที่รับผิดชอบที่แน่นอน โดยงานที่ได้รับมอบหมายเป็นงานที่มีคุณภาพ เช่น ผู้ช่วยวิศวกร

    ผู้ช่วยนักวิชาการ ผู้ช่วยวิจัย เป็นต้น

3. ทำงานเต็มเวลา (Full Time)

4. ระยะเวลาการปฏิบัติงาน 1 ภาคการศึกษา (16 สัปดาห์ หรือ 4 เดือน)

5. มีสวัสดิการ และ/หรือ มีค่าตอบแทนตามสมควร

7. ข้อแตกต่างระหว่างสหกิจศึกษาและฝึกงานภาคฤดูร้อน

bottom of page