top of page

สหกิจศึกษาภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ (CO-OPERATIVE EDUCATION)

รูปแบบการเขียนรายงานสหกิจศึกษา

     การเขียนรายงานถือเป็นกิจกรรมบังคับของการปฏิบัติงานสหกิจศึกษา มีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกฝน ทักษะการสื่อสาร (Communication Skill) ของนิสิต และเพื่อจัดทำข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับสถาน ประกอบการ นิสิตจะต้องขอรับคำปรึกษาจากพนักงานที่ปรึกษา (Job Supervisor) เพื่อกำหนดหัวข้อ รายงานที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงความต้องการของสถานประกอบการเป็นหลัก ตัวอย่างของรายงานสหกิจ ศึกษา ได้แก่ผลงานวิจัยที่นิสิตปฏิบัติ รายงานวิชาการในหัวข้อที่น่าสนในการสรุปข้อมูลหรือสถิติบางประการ การวิเคราะห์ และประเมินผลข้อมูล เป็นต้น ทั้งนี้รายงานอาจจะจัดทำเป็นกลุ่มของนิสิตสหกิจศึกษามากกว่า 1 คน ก็ได้

            ในกรณีที่สถานประกอบการไม่ต้องการรายงานในหัวข้อข้างต้น นิสิตจะต้องพิจารณาเรื่องที่ตนเองสนใจ และหยิบยกขึ้นมาทำเป็นรายงาน โดยปรึกษากับพนักงานที่ปรึกษาเสียก่อน ตัวอย่างหัวข้อที่จะใช้เขียนรายงาน ได้แก่ รายงานวิชาการในหัวข้อที่สนใจ รายงานการปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมาย หรือแผน และวิธีการปฏิบัติงานที่จะทำให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ที่นิสิตวางเป้าหมายไว้จากการปฏิบัติงานสหกิจศึกษา (Learning Objectives) เมื่อกำหนดหัวข้อได้แล้ว ให้นิสิตจัดทำโครงร่างของเนื้อหารายงานพอสังเขปตามแบบ form 07 แบบแจ้งโครงร่างรายงานการปฏิบัติงาน ทั้งนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากพนักงานที่ปรึกษา (Job Supervisor) ก่อน แล้วจัดส่งให้ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ภายใน 3 สัปดาห์แรกของการปฏิบัติงาน

1. รูปแบบการเขียนรายงานสหกิจศึกษา (Co-op Report Format)

           รายงานสหกิจศึกษาเป็นรายงานทางวิชาการ ที่นิสิตจะต้องเขียนในระหว่างการปฏิบัติงาน ณ สถานประกอบการภายใต้การกำกับดูแลของพนักงานที่ปรึกษา การเขียนรายงานสหกิจศึกษาที่ดีจะต้องมี ความถูกต้อง ชัดเจน และมีความสมบูรณ์ของเนื้อหาที่จะนำเสนอ รูปแบบ และหัวข้อต่างๆ จะถูกกำหนดไว้อย่างเป็นระบบ ซึ่งจะต้องประกอบด้วย

              1.1 ส่วนนำ เป็นส่วนประกอบที่จะเข้าถึงเนื้อหาของรายงาน ทั้งนี้เพื่อทำให้ง่ายต่อการเข้าสู่เนื้อหาของรายงาน ซึ่งประกอบด้วย

                                 - ปกนอก

                                 - ปกใน

                                 - จดหมายนำส่งรายงาน

                                 - กิตติกรรมประกาศ

                                 - บทคัดย่อภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ

                                 - สารบัญเรื่อง

                                 - สารบัญตาราง

                                 - สารบัญรูปภาพ

              1.2 ส่วนเนื้อเรื่อง เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของรายงาน ประกอบด้วย

                                 - บทนำ

                                 - การทบทวนเอกสาร (ถ้ามี)

                                 - วัตถุประสงค์ของการปฏิบัติงานสหกิจศึกษาหรือโครงการที่ได้รับมอบหมาย

                                 - งานที่ปฏิบัติหรือโครงงานที่ได้รับมอบหมาย

                                 - สรุปผลการศึกษาหรือผลการปฏิบัติงานสหกิจศึกษา

             1.3 ส่วนประกอบตอนท้าย เป็นส่วนเพิ่มเติม เพื่อทำให้รายงานสมบูรณ์ ประกอบด้วย

                                 - เอกสารอ้างอิง

                                 - ภาคผนวก (ถ้ามี)

             อย่างไรก็ตามในส่วนของเนื้อหาของรายงานสหกิจศึกษา อาจจะแตกต่างกันไปตามลักษณะการปฏิบัติงานของนิสิตแต่ละคน และแต่ละสถานประกอบการ และเพื่อให้การเขียนรายงานสหกิจศึกษาของนิสิตมีรูปแบบ และเป็นบรรทัดฐานเดียวกัน ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการขอกำหนดการจัดทำรูปเล่มรายงานสหกิจศึกษารูปแบบดังต่อไปนี้

             - พิมพ์บนขนาดกระดาษมาตรฐาน A4 80 แกรม สีขาวสุภาพ จะพิมพ์หน้าเดียวหรือสองหน้าก็ได้

             - จัดพิมพ์ด้วยรูปแบบอักษรสุภาพ ขนาดโตเหมาะสม และอ่านง่าย (font TH SarabunPSKขนาด 16)

             - จัดพิมพ์ในแนวตั้งเป็นหลัก โดยอาจจะมีรูปภาพ หรือตารางแสดงในแนวนอนได้ตามความจำเป็นของข้อมูลที่ต้องการนำเสนอ

             - การเว้นขอบกระดาษ กำหนดให้เป็นดังนี้ ขอบบน 1.5 นิ้ว ขอบล่าง 1.0 นิ้ว ขอบซ้าย 1.5 นิ้ว (สำหรับการเข้าเล่มรายงาน) ขอบขวา 1.0 นิ้ว

2. เนื้อหาของรายงานสหกิจศึกษา

           ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการกำหนดเนื้อหาในส่วนเนื้อเรื่องของรายงานสหกิจศึกษาดังนี้

            2.1 บทนำ ประกอบด้วย รายละเอียดเกี่ยวกับสถานประกอบการ และงานที่ได้รับมอบหมาย เช่น

                                 - ชื่อ และที่ตั้งของสถานประกอบการ

                                 - ลักษณะการประกอบการ ผลิตภัณฑ์/ผลผลิต หรือการให้บริการหลักขององค์กร

                                 - รูปแบบการจัดองค์กร และการบริหารงานขององค์กร

                                 - ตำแหน่ง และลักษณะงานที่นิสิตได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบ

                                 - พนักงานที่ปรึกษา และตำแหน่งงานของพนักงานที่ปรึกษา

                                 - ระยะเวลาที่ปฏิบัติงาน

           2.2 วัตถุประสงค์ของการปฏิบัติงานสหกิจศึกษาหรือโครงการที่ได้รับมอบหมาย

                                 - วัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมายที่นิสิตหรือพนักงานที่ปรึกษา ได้กำหนดไว้ว่าจะต้องให้ สำเร็จในระยะเวลาที่กำหนด โดยอาจจะจัดลำดับความสำคัญของวัตถุประสงค์ที่สำคัญที่สุดไว้ก่อน

                                 - ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการปฏิบัติงานหรือโครงการที่ได้รับมอบหมายทั้งในส่วนตัว นิสิตเอง และส่วนที่สถานประกอบการจะได้รับ

           2.3 งานที่ปฏิบัติหรือโครงงานที่ได้รับมอบหมาย ประกอบด้วย

                                 - รายละเอียดที่นิสิตปฏิบัติ โดยเขียนอธิบายขั้นตอนการปฏิบัติงานหรือขั้นตอนปฏิบัติในโครงงานที่ได้รับมอบหมาย

                                 - แสดงภาพ แผนภูมิหรือตารางที่จำเป็นประกอบคำอธิบาย

                                 - แสดงการคำนวณหรือที่มาของสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ที่ชัดเจนถูกต้องตามหลักวิชาการ และง่ายต่อการเข้าใจ

                                 - หากเป็นการปฏิบัติการในห้องปฏิบัติการทดลอง จะต้องอธิบายเครื่องมือปฏิบัติการที่ใช้ อย่างชัดเจน

          2.4 สรุปผลการศึกษาหรือผลการปฏิบัติงาน ประกอบด้วย

                                 - รวบรวม และแสดงข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการวิเคราะห์

                                 - วิเคราะห์ และพิจารณ์ข้อมูลที่ได้มีข้อเสนอแนะและแนวทางในการแก้ไขปัญหาหรือ ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น โดยเน้นในแง่การนำไปใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต

                                 - เปรียบเทียบผลที่ได้รับกับวัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติงานหรือโครงงานที่ได้กำหนดไว้ในข้อ 2.2

3. ตัวอย่างการเขียนรายงานสหกิจศึกษา

           เพื่อให้การจัดทำรายงานสหกิจศึกษาของนิสิตเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการจึงได้รวบรวมตัวอย่างการเขียนรายงานสหกิจศึกษาที่ผ่านมา เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาและใช้เป็นแนวทางในการเขียนรายงานสหกิจศึกษาต่อไป

           3.1 ปกนอก (Cover) มีขนาดกระดาษเท่ากับกระดาษ A4 ประกอบด้วย 4 ส่วน ดังนี้

                  1. ตรามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และรายงานการปฏิบัติงานสหกิจศึกษา (font TH SarabunPSK ขนาด 20 ตัวหนา)

                  2. ชื่อรายงาน ต้องมีทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ (font TH SarabunPSK ขนาด 18 ตัวหนา)

                  3. ชื่อ นามสกุล และรหัสนิสิต (ต้องมีคำนำหน้าชื่อเสมอ) (font TH SarabunPSK ขนาด 18 ตัวหนา)

                  4. ส่วนล่างสุด (font TH SarabunPSK ขนาด 18 ตัวหนา) แบ่งเป็น 4 บรรทัด

                                 บรรทัดที่ 1 : ชื่อรายวิชา

                                 บรรทัดที่ 2 : ชื่อภาควิชา และคณะ

                                 บรรทัดที่ 3 : ชื่อมหาวิทยาลัย

                                 บรรทัดที่ 4 : ภาคการศึกษา และปีการศึกษา

          3.2 ปกใน (Title page) มีขนาดกระดาษเท่ากับกระดาษ A4 ประกอบด้วย 4 ส่วน ดังนี้

                 1. ตรามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และรายงานการปฏิบัติงานสหกิจศึกษา (font TH SarabunPSK ขนาด 20 ตัวหนา)

                 2. ชื่อรายงาน ต้องมีทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ (font TH SarabunPSK ขนาด 18 ตัวหนา)

                 3. ชื่อ นามสกุล และรหัสนิสิต (ต้องมีคำนำหน้าชื่อเสมอ) (font TH SarabunPSK ขนาด 18 ตัวหนา)

                 4. ส่วนล่างสุด (font TH SarabunPSK ขนาด 18 ตัวหนา) แสดงชื่อ และที่อยู่ของสถานประกอบการ

          3.3 จดหมายนำส่ง เป็นรูปแบบของจดหมายราชการ ประกอบด้วย 3 ส่วน ดังนี้

                  1. ส่วนบน : ที่อยู่ วันที่ เรื่อง เรียน (font TH SarabunPSK ขนาด 16)

                  2. ส่วนกลาง : รายละเอียดแจ้งความประสงค์ในการฝึกงานสหกิจศึกษา เหตุผลที่ต้องการ และมีการสรุปลงท้ายเนื้อหา (font TH SarabunPSK ขนาด 16)

                  3. ส่วนล่าง : คำลงท้าย ลายมือชื่อ ชื่อ-นามสกุล ตำแหน่ง (font TH SarabunPSK ขนาด 16)

          3.4 กิตติกรรมประกาศ (Acknowledgement page)

                               - เป็นส่วนที่กล่าวแสดงความขอบคุณผู้ที่ให้ความช่วยเหลือ และร่วมมือในการปฏิบัติงาน

                               - ต้องเขียนชื่อบุคคลให้ถูกต้อง ระมัดระวังตัวสะกดหรือการันต์

                               - กิตติกรรมประกาศควรมีความยาวประมาณครึ่งหน้ากระดาษ (ไม่ควรเกินหนึ่งหน้ากระดาษ)

                               - การลงชื่อส่วนท้ายของนิสิต ไม่ต้องใส่คำนำหน้าชื่อ

          3.5 บทคัดย่อ (Abstract)

                               - เป็นส่วนที่เขียนสรุปเนื้อหาสั้นๆ ประกอบด้วยข้อปัญหา วัตถุประสงค์ วิธีการดำเนินการที่ได้รับมอบหมายพอสังเขป

                               - แสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะของผู้เขียนรายงาน โดยไม่ต้องมีข้อมูลรายละเอียดสนับสนุน

                               - บทคัดย่อส่วนใหญ่มีความยาวไม่เกินหนึ่งหน้ากระดาษ (ถ้าเขียนเป็นภาษาอังกฤษ มีความยาวประมาณ 500-600 คำ)

          3.6 สารบัญ (Table of contexts)

                 3.6.1 สารบัญเป็นการแสดงลำดับการดำเนินเรื่อง โดย

                               - ส่วนประกอบนำ (กิตติกรรมประกาศ บทคัดย่อ สารบัญ สารบัญตาราง และสารบัญรูปภาพ)

                               - ถ้าไม่จำเป็นไม่ควรใส่หัวข้อย่อยในส่วนของสารบัญ เช่น 1.1.1 หรือ 1.1.1.1 เป็นต้น

                 3.6.2 สารบัญตาราง (List of tables)

                               - เป็นส่วนที่แสดงชื่อตารางที่ปรากฎในรายงานการปฏิบัติงานสหกิจศึกษา พร้อมทั้งบอก เลขหน้ากำกับ (ตามลำดับของเลขที่บท)

                 3.6.3 สารบัญรูปภาพ (List of illustration)

                               - เป็นส่วนที่แสดงชื่อรูปภาพที่ปรากฎในรายงานการปฏิบัติงานสหกิจศึกษา พร้อมทั้งบอก เลขหน้ากำกับ (ตามลำดับของเลขที่บท)

         3.7 ส่วนของเนื้อหาภายในเล่มรายงาน

                3.7.1 บทนำ

                              - ส่วนเริ่มต้น โดยมีการเกริ่นนำถึงความเป็นมา และความสำคัญของการทำงาน และรายละเอียดของสถานประกอบการ

                              - วัตถุประสงค์ของการปฏิบัติงาน

                              - ขอบเขตของการทำงาน

                              - ขั้นตอนการดำเนินงาน

                              - ประโยชน์ที่ได้รับจากการปฏิบัติงาน

               3.7.2 การทบทวนเอกสารหรือวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง

                         เป็นการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เพื่อใช้ในการปฏิบัติงานหรือช่วยให้การปฏิบัติงานสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ตัวอย่างเช่น การค้นหารายละเอียดเกี่ยวกับโปรแกรมที่ใช้ในการปฏิบัติงาน เป็นต้น

               3.7.3 รายละเอียดของงานที่ปฏิบัติ ประกอบด้วยส่วยประกอบดังนี้

                             - ประเภทของงาน และลักษณะงานที่ได้รับมอบหมาย

                             - ขั้นตอนการปฏิบัติงานและรายละเอียดขั้นตอนก่อนได้ชิ้นงาน (สามารถแสดงตารางหรือรูปภาพประกอบการอธิบายได้)

                             - อธิบายเครื่องมือหรือโปรแกรมที่ใช้ในการปฏิบัติงาน

                         รายละเอียดในส่วนของบทที่  3 นี้ เป็นส่วนที่สำคัญของรายงาน ดังนั้นข้อมูลในรายงานต้องมีความละเอียดมาก

               3.7.4 ผลการดำเนินงาน

                         คือส่วนที่เป็นรายละเอียดขอขั้นตอนการปฏิบัติงาน ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งเป้าหมายไว้ในบทที่ 1

อภิปรายผลการปฏิบัติงานด้วยวิธีที่เข้าใจชัดเจน เช่น กราฟ ตาราง หรือรูปภาพ เป็นต้น

               3.7.5 สรุป ปัญหา และข้อเสนอแนะ

                         คือการรวบรวมและแสดงข้อมูลที่จำเป็น โดยมีการวิเคราะห์ และวิจารณ์ข้อมูจากผลการปฏิบัติงาน โดยมีข้อเสนอแนะ และแนวทางในการแก้ไข เปรียบเทียบผลที่ได้รับกับวัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติงาน โดยมีข้อเสนอแนะ เพื่อกำหนดแนงทางในการแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น โดยเน้นในแง่การนำไปใช้ประโยชน์ในภายภาคหน้า

               3.7.6 บรรณานุกรม

                         การอ้างอิงในรายงานเป็นการแจ้งแหล่งที่มาของข้อความ แนวคิด หรือข้อมูลเพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าของข้อความ แนวคิด หรือข้อมูลนั้น รวมทั้งเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านที่ประสงค์จะทราบรายละเอียดอื่นๆจากแหล่งที่มาการอ้างอิงแสดงความเชื่อถือที่มีต่อเอกสารที่อ้างอิง และรับรองความถูกต้องของข้อมูลและข้อเท็จจริง

นอกจากนี้ การอ้างอิงจะทำให้รายงานมีความน่าเชื่อถือ และยังแสดงถึงความมีจริยธรรมทางวิชาการโดยการให้ความคารพต่องานของผู้ที่ได้นำมาอ้างอิงด้วย และในส่วนของลิขสิทธิ์ ก็แสดงว่าผู้เขียนเองก็ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์เจ้าของสิ่งพิมพ์ หรือข้อมูลที่มาซึ่งมีกฎหมายคุ้มครอง

                             หลักการเขียนบรรณานุกรม

                         1. คำว่า “บรรณานุกรม” ไว้กึ่งกลางหน้ากระดาษ โดยใช้ตัวอักษรตัวหนาไม่ต้องขีดเส้นใต้ (font TH SarabunPSK ขนาด 18 ตัวหนา)

                         2. ถ้าเป็นรายงานภาษาอังกฤษใช้คำว่า “BIBLIOGRAPHY”

                         3. ลำดับการอ้างอิง ให้นิสิตเรียงลำดับการอ้างอิงที่เป็นภาษาไทย และต่อด้วยการอ้างอิงภาษาอังกฤษ และสุดท้ายเป็นการอ้างอิงที่มาจากอินเตอร์เนต

                         4. ตำแหน่งชื่อผู้แต่งหรือรายการเอกสาที่เริ่มต้นให้ทำการพิพม์ชิดขอบทางด้านซ้าย

                         5. ถ้าข้อความที่อ้างอิงนั้นยาวเกินไปจนต้องขึ้นบรรทัดที่ 2 ให้อักษรตัวแรกของบรรทัดที่ 2 เยื้องไปตรงกับอักษรตัวที่ 7 ของบรรทัดแรก

                         6. ให้เรียงลำดับรายการที่จะอ้างอิง ตามลำดับตัวอักษรตัวแรกของชื่อผู้แต่ง ก-ฮ ถ้าอักษรตัวแรกซ้ำกัน ให้เรียงตามสระตามแบบพจนานุกรม

                         7. กรณีผู้แต่ง 2 คน ให้ใส่ชื่อผู้แต่งทั้งสองคนโดยใช้คำว่า “และ” คั่นกลาง เช่น ชัยมงคล ลิ้มเพียรชอบ และกิตติชัย อธิกุลนัตน์

                         8. กรณีผู้แต่ง 3 คน ใส่ชื่อผู้แต่งคนแรกตามด้วยเครื่องหมายจุลภาค (,) ใส่ชื่อผู้แต่งคนที่ 2 และตามด้วยคำว่า “และ” ก่อนใส่ชื่อผู้แต่งคนที่ 3 เช่น ชัยมงคล ลิ้มพียรชอบ, กิตติชัย อธิกุลรัตน์ และภัทรพงษ์ ภาคภูมิ

                         9. กรณีผู้แต่งมากกว่า 3 คน ให้ใส่เฉพาะชื่อคนแรก แล้วตามด้วยคำว่า “และคณะ” เช่น ชัยมงคล ลิ้มเพียรชอบ และคณะ

                             ตัวอย่างการเขียนบรรณานุกรม

                         1.  หนังสือทั่วไป

                               ชื่อผู้แต่ง. ชื่อหนังสือ. ครั้งที่พิมพ์. สถานที่พิมพ์: สำนักพิมพ์, ปีที่พิมพ์.

           ตัวอย่างเช่น

                              ชัยมงคล ลิ้มเพียรชอบ. การวิจัยดำเนินงานสำหรับวิศวกร. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัย

                                            เกษตรศาสตร์, 2561.

                        2. หนังสือแปล

                              ชื่อผู้แต่ง. ชื่อหนังสือ. แปลโดย. ครั้งที่พิมพ์. สถานที่พิมพ์: สำนักพิมพ์, ปีที่พิมพ์.

 

            ตัวอย่างเช่น

                              Theeraputh Meka. ทักษะการใช้ภาษาไทย. แปลโดย กนกวรรณ โสดาตา. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: 

                                           NECTEC, 2546.

                        3. อินเตอร์เนต

                              ชื่อเรื่อง. (วัน เดือน ปีที่ค้นข้อมูล). Available URL: ที่อยู่ของแหล่งข้อมูล.

             ตัวอย่างเช่น

                              Principles of motion economy. (20 พฤษภาคม 2561). Available URL:

                                           https://en.wikipedia.org/wiki/Principles_of_motion_economy

 

                        หากชื่อผู้แต่งซ้ำกันให้เรียงตามลำดับปีที่พิมพ์ โดยเรียงปีที่พิมพ์เล่มก่อน ส่วนชื่อผู้แต่งเล่มที่สอง จะใช้วิธีการขีดเส้นใต้ ซึ่งเล่มที่สองเป็นเล่มเดียวกับเล่มแรก

 

             ตัวอย่างเช่น

                             ชัยมงคล ลิ้มเพียรชอบ. (2559) การวิจัยดำเนินงานสำหรับวิศวกร.

                             ____________________. (2561) การจัดการโลจิสติสก์และโซ่อุปทาน.

 

           3.7.7 ภาคผนวก

                     ภาคผนวกเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับรายงาน แต่ไม่ใช่เนื้อหาของรายงาน เช่น

                                - ตารางที่มีรายละเอียดซับซ้อน

                                - เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย เช่น แบบสอบถาม แบบทดสอบ เป็นต้น

                                - สำเนาเอกสารหายาก

                                - ภาพที่มีขนาดใหญ่หรือภาพถ่ายเครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง

                                - ข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเนื้อหาที่ต้องการให้ผู้อ่านเข้าใจชัดเจนขึ้น

4.  Download MS Word Templates

Download ตัวอย่างรูปแบบการเขียนรายงานได้ที่นี่

bottom of page